26 ก.ค. 2568 181 0

ดีอี เตรียมออกกฎกระทรวงฯ คืนเงินเร่งเยียวยาผู้เสียหาย เผยจัดการบัญชีม้าแล้วกว่า 900,000 บัญชี

ดีอี เตรียมออกกฎกระทรวงฯ คืนเงินเร่งเยียวยาผู้เสียหาย เผยจัดการบัญชีม้าแล้วกว่า 900,000 บัญชี

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 5/2568 ที่มีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นรองประธานกรรมการฯ เอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ ร่วมด้วยตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) ร่วมหารือเพื่อดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี


ประเสริฐ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการปราบปรมอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบัน พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการกำหนดมาตรการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับ

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาในด้านของการเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการคืนเงินที่สามารถยึดหรืออายัดมาได้จากมิจฉาชีพที่กระทำผิด ภายหลังผลการพิจารณาคดีของศาลถึงที่สุดแล้ว โดยมอบหมายให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นผู้พิจารณาร่างกฎกระทรวงการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ ....ขึ้นมารองรับ

ในส่วนของรายละเอียดกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข รายละเอียด /การพิจารณาคืนเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัล หรือชดใช้เงินคืนให้แก่ผู้เสียหายของคณะกรรมการธุรกรรม การแจ้งสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง / กำหนดวิธีการคืนเงิน หรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย / กรณีผู้เสียหายได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง โดยต้องแจ้งให้ ปปง. รอผลการพิจารณาของศาลจนกว่าคดีจะถึงที่สุด /

การจัดทำบัญชีการนำเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายไว้เป็นฐานข้อมูล / การเก็บรักษาและจัดการเงิน กรณีไม่มีผู้เสียหายหรืออยู่ระหว่างการใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง และรอผลการพิจารณาคดีของศาล





ขณะเดียวกันที่ประชุม ยังได้พิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ที่มีผลการดำเนินงาน ถึง 30 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา โดยสรุปได้ดังนี้

1.การปราบปรามจับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์ รวมทุกประเภท สถิติถึง 30 มิถุนายน 2568 (ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

- การจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทุกประเภท มีจำนวนทั้งหมด 65,841 ราย โดยในเดือน มิถุนายน 2568 มีจำนวน 3,550 ราย

- การจับกุมคดีพนันออนไลน์ มีจำนวนทั้งหมด 27,711 ราย โดยในเดือน มิถุนายน 2568 มีจำนวน 1,097 ราย

- การจับกุมคดีบัญชีม้า ซิมม้า และความผิดตาม พรก.ฯ มีจำนวนทั้งหมด 7,455 ราย โดยในเดือน มิถุนายน 2568 มีจำนวน 710 ราย

2. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ สถิติถึง 30 มิถุนายน 2568 

- การปิดกั้นเว็บไซต์พนันออนไลน์ จำนวน 62,805 URLs หลอกลวงออนไลน์ จำนวน 1,242 URLs และอื่นๆ 51,860 URLs รวม 115,907 URLs

- การประสานแพลตฟอร์ม (Facebook/YouTube/X/TikTok) เพื่อขอปิดกั้นเกี่ยวกับหลอกลวงออนไลน์ ที่มีคำสั่งศาล จำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 12,646 URLs ที่ไม่มีคำสั่งศาล มีจำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 37,919 URLs (เฉพาะในส่วนของกระทรวงดีอี)

3. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน 

ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 30 มิ.ย.68 มีดังนี้

- AOC ระงับบัญชีชั่วคราว จำนวน 440,347 บัญชี

- ปปง. ทำการอายัดบัญชีไปแล้วจำนวน 476,046 บัญชี (ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2568) รวม 916,393 บัญชี

- มาตรการจัดการบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัล ในเดือนมิถุนายน - เดือนกรกฎาคม 2568 ผู้ประกอบการ

สินทรัพย์ดิจิทัล ได้ระงับบัญชีม้าแล้วประมาณ 29,000 บัญชี รวมมูลค่า 186 ล้านบาท

4.มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า (ซิมของบุคคลธรรมดา/ต่างด้าว) 

ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ตามมาตรา 4/1 วรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามมาตรา 8/10 แห่งพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามที่คณะอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ พิจารณาเสนอ ใน 8 มาตรการด้วยกัน

5. การออกกฎหมายลำดับรอง

ปัจจุบันกระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการออกกฎหมายลูกตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งบางฉบับได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้ว อาทิ

- มาตรฐานหรือมาตรการ ที่กำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และเป็นเกณฑ์พิจารณาการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายจากที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามมาตรา 8/10 (มาตรา 4/1 วรรคหนึ่ง) โดยในส่วนของความรับผิดชอบขอ คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568

- ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกำหนดขั้นตอนการระงับสั่งการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมาย (การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล) ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์(มาตรา 7/1 วรรคสอง) ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2568


“การออกกฎกระทรวงการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ .... เพื่อเป็นการเยียวยาให้กับผู้เสียหายจากภัยอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของ คกก.ฯ โดยขณะนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการพิจารณา และจะมีการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในลำดับต่อไป” รองนายกฯ ประเสริฐ กล่าว