5 ก.ค. 2568 126 0

ดีอี คิกออฟ 'WebD' แพลตฟอร์ม AI สกัดเว็บฯ เถื่อน ปิดกั้นได้เพิ่มขึ้นกว่า 70 %

ดีอี คิกออฟ 'WebD' แพลตฟอร์ม AI สกัดเว็บฯ เถื่อน ปิดกั้นได้เพิ่มขึ้นกว่า 70 %
วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงดีอี (Top Executives) ครั้งที่ 6/2568 โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอี ดร.ปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดีอี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 14 อาคาร 9 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT

ประเสริฐ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงดีอี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นเจ้าภาพการจัดงาน “The 3rd Global Forum on the Ethics of AI 2025” ร่วมกับ ยูเนสโก ได้รับการตอบรับที่ดี พร้อมทั้งคำชื่นชมจากยูเนสโก ผู้นำประเทศ และเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี


ทั้งนี้กระทรวงดีอี พร้อมเดินหน้าการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการการกำกับดูแลด้วยจริยธรรม AI โดยขณะนี้ได้ดำเนินการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการระงับการแพร่หลายและตรวจสอบการเข้าถึงเว็บไซต์ผิดกฎหมาย หรือที่เรียกว่า “WebD Project” ในรูปแบบแพลตฟอร์ม

สำหรับ แพลตฟอร์ม “WebD” เป็นแพลตฟอร์มเร่งรัดกระบวนการระงับเว็บไซต์ผิดกฎหมายซึ่งมีมากกว่า 100,000 URLs ต่อปี โดยใช้เทคโนโลยี AI และ RPA ในการค้นหา เก็บหลักฐาน สร้างคำร้องต่อศาลแบบ Paperless และส่งคำสั่งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยอัตโนมัติ พร้อมมีระบบ "URLs Checker" เพื่อตรวจสอบการปิดกั้นอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนจุดเด่นของแพลตฟอร์มดังกล่าว พบว่าสามารถทำงานได้เร็วกว่าเจ้าหน้าที่ถึง 31.5 เท่า ช่วยลดขั้นตอนการยื่นคำร้องต่อศาลลงได้ 5 วันทำการ และคาดว่าจะเพิ่มจำนวน URLs ที่ถูกสั่งปิดในปี 2568 ได้ถึงร้อยละ 70.7 จากเดิมในปี 2567 (โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 175 URLs)

นอกจากนี้ “WebD” ยังมีระบบค้นหาและจัดเก็บหลักฐานเว็บไซต์ผิดกฎหมาย (AI Crawler) ซึ่งใช้ในการตรวจสอบ URLs ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย (เทียบเท่าการทำงานโดยเจ้าหน้าที่จำนวน 94 คน) ก่อนส่งต่อไปยังระบบแอปพลิเคชัน สำหรับตรวจสอบ/กลั่นกรองเว็บไซต์ผิดกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการยื่นคำร้องต่อศาล (สร้างคำร้องส่งต่อไปยังศาลอาญาผ่านระบบออนไลน์) กระบวนการสั่งปิด (ระบบส่งคำสั่งศาลไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และกระบวนการปรับพินัย โดยเป็นการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี AI ร่วมกับการทำงานของเจ้าหน้าที่

การใช้งานแพลตฟอร์ม WebD จะช่วยให้กระบวนการทำงานในการระงับ ปิดกั้นเว็บไซต์ URLs ผิดกฎหมายสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเว็บไซต์ผิดกฎหมายเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงดีอีให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามอาญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชน” รองนายกฯ ประเสริฐ กล่าว 


ขณะเดียวกันที่ประชุมฯ ยังได้มีการพิจารณาวาระที่สำคัญ ดังนี้

1.การเร่งรัดดำเนินการใช้งาน แพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง “DE-fence platform” อย่างเต็มระบบ ซึ่งขณะนี้เปิดให้ประชาชนได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใช้งานในระบบ BETA และเตรียมพร้อมให้ประชาชนใช้งานเต็มระบบในเร็วๆนี้ สำหรับ “DE-fence platform” เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชน ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้น (SMS) ของคนร้าย รวมถึงช่วยยืนยันเบอร์โทรจากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือ สถาบันการเงิน เป็นต้น

2.การติดตามตรวจสอบเรื่องข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับความมั่นคงระหว่างประเทศ ไทย-กัมพูชา กระทรวงดีอี โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างใกล้ชิด โดยได้ตรวจสอบข่าวสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา และยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม/บิดเบือน 42 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการส่งปิดกั้นรวม 29 URLs เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน

3.การแจ้งเตือนเรื่องภัยพิบัติ และภัยทางธรรมชาติ ขณะนี้กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเข้ากับแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกอบด้วยการให้บริการ 3 ประเภท ได้แก่ พยากรณ์อากาศล่วงหน้า 7 วัน เส้นทางเดินพายุ และข้อมูลแผ่นดินไหว