30 มิ.ย. 2568 133 0

BDI ปลุกพลังเยาวชน คิดนอกกรอบ จัดกิจกรรม 'BDI Hackathon 2025' สร้าง Smart Tourism ด้วย AI และ Big Data

BDI ปลุกพลังเยาวชน คิดนอกกรอบ จัดกิจกรรม 'BDI Hackathon 2025' สร้าง Smart Tourism ด้วย AI และ Big Data

เชียงใหม่ - เมื่อข้อมูลไม่ใช่เรื่องของนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เป็น “พลังสร้างเมือง” ที่สามารถเปลี่ยนเมือง เปลี่ยนชุมชน เปลี่ยนอนาคตของประเทศ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จริง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI เปิดเวทีให้นักคิดรุ่นใหม่จากทั่วประเทศปล่อยของเต็มที่ใน “BDI Hackathon 2025: AI & Data Innovation for Smart Tourism” เวทีแข่งขัน Hackathon ที่ผสานเทคโนโลยี AI และ Data Analytics กับโจทย์จริงในพื้นที่นิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อค้นหานวัตกรรมท่องเที่ยวแห่งอนาคต พร้อมชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 27-29 มิถุนายน 2568 ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Uniserv CMU)


การแข่งขันในครั้งนี้ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้แสดงศักยภาพทางด้านนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยี โดยมีผู้เข้าร่วมจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ มาร่วมนำเสนอแนวทางเชิงสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ "Ruby-chan! Hai! Nani ga suki?" ด้วยแนวคิดต้องการสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว และกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยรอบพื้นที่นิมมานเหมินท์ ได้โชว์ไอเดียออกมาในรูปแบบแอปพลิเคชัน “YEEPING ผลงานนี้จึงโดดเด่นในการผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต

ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า BDI Hackathon 2025 เป็นการร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และเครือข่ายพันธมิตร โดยปีนี้เป็นการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  อันทรงคุณค่า เป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตของผู้เข้าร่วมแข่งขัน

การท่องเที่ยวเป็นโจทย์ของการแข่งขันในปีนี้ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีข้อมูลหลากหลายมิติ ครอบคลุมทั้งด้านพื้นที่ พฤติกรรมนักท่องเที่ยว และผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมถึงสะท้อนการทำงานร่วมกันของชุมชนในหลายระดับ ทั้งการเดินทาง การใช้ทรัพยากร การบริการสาธารณะ ความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งช่วยให้เยาวชนสามารถเข้าใจปัญหา วิเคราะห์ข้อมูล และพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม


เราภูมิใจมากที่กิจกรรมครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากเยาวชนทั่วประเทศอย่างล้นหลาม มีผู้สมัครเข้าร่วมกว่า 568 คน จาก 115 ทีม 86 สถาบันการศึกษา ทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ครอบคลุม 26 จังหวัดจาก 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ ที่สำคัญคือความหลากหลายของผู้เข้าแข่งขัน หลายทีมรวมตัวกันจากต่างโรงเรียน ต่างมหาวิทยาลัย ต่างจังหวัด ซึ่งทั้งหมดคือพลังร่วมของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนสังคม และได้คัดเลือก 15 ทีม เพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ” ดร.สุนทรีย์ กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับโจทย์การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ  ‘การวิเคราะห์ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่นิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่’ ซึ่งเป็นย่านที่เต็มไปด้วยศักยภาพ ทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การบริโภค และพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย ผู้เข้าแข่งขันจะต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจโจทย์ ที่ได้จากการสำรวจปัญหาในพื้นที่ย่านนิมมานเหมินทร์ ได้แก่ ปัญหาการจราจรและที่จอดรถ ปัญหา ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และความท้าทายในการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่นอกเมือง โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องเลือกประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือเชื่อมโยงหลายประเด็นเข้าด้วยกันเพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวคิด และแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์และมีศักยภาพในการนำไปใช้ได้จริง



ข้อมูลที่ใช้สำหรับการแข่งขันเป็นข้อมูลจากหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ย่านนิมมานเหมินทร์ เช่น ข้อมูลสถานที่น่าสนใจ (Point of Interest: POI) ที่ครอบคลุมร้านค้า ร้านอาหาร และบริการอื่นๆ ในพื้นที่ ข้อมูลการเคลื่อนตัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหนาแน่น และรูปแบบการเดินทางภายในพื้นที่ และข้อมูลจราจรซึ่งสะท้อนถึงสภาพการเดินทาง และจุดที่อาจมีปัญหา เรื่องความคับคั่ง หรือขาดแคลนพื้นที่จอดรถ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำการตรวจสอบความสมบูรณ์ของชุดข้อมูล และจัดเตรียมข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน จากนั้นจึงนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบแนวคิด หรือโซลูชันที่ตอบสนองต่อโจทย์ของการแข่งขันโดยเน้นการสร้างผลงานที่ใช้ข้อมูลเป็นฐานในการขับเคลื่อน สร้างมูลค่าเพิ่มจากข้อมูล และเชื่อมโยงกับความต้องการของภาคธุรกิจ หรือหน่วยงานในพื้นที่อย่างชัดเจน

ข้อมูลและนวัตกรรมดิจิทัลจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากแต่เป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถใช้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับเมืองและสังคมได้จริง เราเชื่อว่าแนวคิดจากเวทีนี้ คือ จุดเริ่มต้นสำคัญของการเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้น และก้าวไปสู่การมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตและกำหนดทิศทางนโยบายอย่างแท้จริง ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้ยังสอดคล้องกับภารกิจของ BDI ในการเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติ ในการส่งเสริมให้มีบุคลากรที่สามารถใช้งาน AI (AI User) อย่างน้อย 10 ล้านคน, ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน AI (AI Professional) อย่างน้อย 90,000 คน และนักพัฒนา AI (AI Developer) อย่างน้อย 50,000 คน ภายในระยะเวลา 2 ปี” ดร.สุนทรีย์ กล่าวสรุป


ขณะที่ ศวิษฐ์ โกสียอัมพร ผู้แทนจากทีมชนะเลิศ “Ruby-chan! Hai! Nani ga suki?” กล่าวถึงประสบการณ์บนเวที BDI Hackathon 2025 ว่า ความท้าทายสำคัญคือการพัฒนาไอเดียให้ตอบโจทย์ ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ภายใต้เป้าหมายการกระจายรายได้สู่ชุมชน ทีมจึงร่วมกันสร้างสรรค์แอปพลิเคชันYEEPING (ยี่ปิง)” แพลตฟอร์มเพื่อการท่องเที่ยวภายในจังหวัดเชียงใหม่ที่เน้นการหาสถานที่ที่ใช่ ผจญภัยในแบบที่คุณชื่นชอบ โดยนำเทคโนโลยี AI และโมเดล LLM มาวิเคราะห์ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวสนใจ เพื่อค้นหาเส้นทางท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับพฤติกรรมรายบุคคล นักท่องเที่ยวสามารถออกแบบทริปได้ด้วยตนเอง เริ่มจากนักท่องเที่ยวเลือกวางแผนการท่องเที่ยวภายในแอปฯ และเดินทางไปเช็กอินในสถานที่ตามแผน เพื่อเก็บแต้มและรับส่วนลดจากร้านค้า หรือโรงแรมโดยรอบย่านนิมมานฯ ทำให้เกิดการเดินทางและกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง


ผลการแข่งขัน BDI Hackathon 2025

·      รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Ruby-chan! Hai! Nani ga suki ประกอบด้วย นางสาวจิราภรณ์ จันธิวงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายศวิษฐ์ โกสียอัมพร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, นางสาวพิมณภัทร คูวุฒยากร โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย, นายกฤต วินิจฉัยกุลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายอัญญาฤทธิ์ จ๊ะราจา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

·      รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมวิศวะลูกพ่อหลุยส์ ประกอบด้วย นายอมร พันธุรัตน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายณภัทร เจริญกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล, นายกันต์ธีร์ วัฒนานันท์ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย, นายธนณัฏฐ์ เอี้ยวพาเจริญ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และนายณรัก ชัยแก้ว โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย                   

·      รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม anomaly ประกอบด้วย นายธีร์ เหมจินดา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายธีร์จุฑา ศรีวรานนท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายภูริณัฐ นลอาสา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นายธนพัฒน์ แช่มเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนางสาวเจนตา วงศ์เลิศสกุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



สามารถติดตามอัปเดตข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ได้ทางเว็บไซต์ https://bdi.or.th/ และ Facebook: BDI - Big Data Institute