ประเทศไทยกำลังเร่งยกระดับบทบาทบนเวทีโลกอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมกับการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างเข้มข้น เพื่อรับมือกับภัยคุกคามออนไลน์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์สำคัญนี้ถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร AI และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์เป็นวาระเร่งด่วน “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ผลักดัน AIGPC เป็นศูนย์ธรรมาภิบาล AI แห่งแรกในเอเซีย
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติฯ โดยได้กล่าวถึงแนวทางสำคัญ 3 ประการในการกำหนดทิศทางอนาคตของ AI ในประเทศไทย ได้แก่ การส่งเสริมการใช้ AI เพื่อประโยชน์ของสังคม โดยเฉพาะในด้านเกษตรกรรม สาธารณสุข และการศึกษา การป้องกันการใช้ AI ในทางที่ผิด เช่น การสร้างข่าวปลอมหรือ Deepfake ที่บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือในสังคม การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและการพัฒนา AI โดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อสนับสนุนแรงงาน ไม่ใช่แทนที่แรงงาน โดยรัฐจะร่วมมือกับภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษาในการยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
รัฐบาลไทยยังเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ชาติด้าน AI ภายใต้การกำกับของ “คณะกรรมการ AI แห่งชาติ” โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้ AI เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และหลักจริยธรรมที่เข้มแข็ง รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก AI ได้ไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาทภายในปี 2570 พร้อมส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าถึงเทคโนโลยี AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก พร้อมกันนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการนำ AI ไปใช้ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะด้านการแพทย์ เกษตรกรรม และการศึกษา เพื่อให้เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือทวิภาคีกับ Ms. Audrey Azoulay (นางออเดรย์ อาซูเลย์) ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันในการตั้ง “ศูนย์ AI Governance Practice Center (AIGPC) หรือ ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ระดับภูมิภาค” เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรม AI โดยเฉพาะในบริบทของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ความร่วมมือนี้ยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภูมิภาคในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดจากการใช้ AI ในทางที่ผิด โดยเฉพาะการนำ AI มาใช้เพื่อหลอกลวงประชาชน เช่น การปลอมเสียงและใบหน้าผ่านเทคโนโลยี Deepfake การส่งข้อความหลอกลวงผ่านระบบอัตโนมัติ และการสนับสนุนขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์หรือ Call center ซึ่งล้วนเป็นภัยที่เกิดขึ้นจริงและแพร่กระจายรวดเร็วในหลายประเทศ ซึ่งการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนนี้ เป็นการสะท้อนว่าประเทศไทยพร้อมเดินหน้าร่วมกับประชาคมโลกอย่างมั่นคง บนเส้นทางของการพัฒนา AI ที่มีจริยธรรม โปร่งใส และยั่งยืน
จัดตั้ง "AI Practice Center" หมุดหมายสำคัญสู่ศูนย์กลาง AI ระดับภูมิภาค
อีกหนึ่งในก้าวที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมจัดตั้ง ศูนย์ AI Practice Center (ศูนย์ปฏิบัติการ AI) หรือ AIGPC ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมืออันยิ่งใหญ่ระหว่างประเทศไทยและองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ศูนย์แห่งนี้คาดการณ์ว่าจะตั้งอยู่ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) โดยจะมีเจ้าหน้าที่จาก UNESCO มาประจำการเพื่อทำงานอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานของศูนย์จะจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงของไทยและ UNESCO เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการแลกเปลี่ยนความรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ และขยายองค์ความรู้ด้าน AI ไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ ของ UNESCO ทั่วโลก
ความสำคัญของการที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมด้าน AI ของ UNESCO ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO จัดงานลักษณะนี้เพียง 2 ครั้งในทวีปยุโรปเท่านั้น การได้รับความไว้วางใจจาก UNESCO ในครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญด้าน AI ในระดับโลกอย่างชัดเจน และศูนย์ AI Practice Center นี้จะเป็นเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เน้นย้ำว่าการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวนี้จะสร้างโอกาสให้ AI ที่มีมาตรฐานด้านจริยธรรมและความโปร่งใส สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างการเข้าถึง AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วโลก หลังจากการประชุมคณะกรรมการ AI แห่งชาติครั้งนี้ จะมีการหารือเพื่อกำหนดตัวเลขการลงทุนที่ชัดเจนขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการลงทุนรวมจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับ AI และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ภายในปี 2570 จะอยู่ที่ประมาณ 15.4 พันล้านบาท
เร่งพัฒนาคน AI สร้างกำลังรองรับการเติบโตของประเทศ
การพัฒนาบุคลากรด้าน AI ถือเป็นวาระเร่งด่วนและสำคัญยิ่งที่รัฐบาลไม่สามารถรอได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเร่งสร้างกำลังคนด้าน AI ผ่านความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกหลายแห่ง อาทิ การทำงานร่วมกับ Microsoft โดยตั้งเป้าหมายในการสร้างบุคลากรด้าน AI ให้ได้ประมาณ 1 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับ Huawei, มหาวิทยาลัยต่างๆ และ Google โดยมีการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) และเสริมสร้างองค์ความรู้ด้าน AI อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยยังคงมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI เพิ่มขึ้นอีกปีละ 100,000 คน ซึ่งถือว่าจำนวนที่มีในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างมาก
ขณะนี้ได้มีการหารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้าน AI อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐนั้น ตัวเลขที่ชัดเจนจะถูกกำหนดในการประชุมคณะกรรมการ AI แห่งชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนหน้า มีรองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ซึ่งได้เน้นย้ำถึงการนำ AI มาใช้ในการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้นด้วย คณะกรรมการบอร์ด AI จะมีการประชุมครั้งต่อไปในเดือนหน้าเพื่อพิจารณาสรุปข้อเสนอจากการประชุมครั้งนี้
พลิกโฉมการปราบปรามอาชญากรรม AI เครื่องมือหลักสู้ภัยไซเบอร์และข่าวปลอม
ประเทศไทยได้เริ่มนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจจับและกำจัดข่าวปลอม รวมถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ประเภทอื่นๆ อย่างจริงจัง AI ถูกนำมาใช้ในการสแกนและกวาดล้างแพลตฟอร์มที่มีข้อความไม่พึงประสงค์, การพนันออนไลน์, การขายปืนเถื่อน และการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ การนำ AI มาใช้ทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขและลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่าตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ทำได้น้อยมากและต้องพึ่งพาบุคลากรจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวสร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลให้กับประเทศ
กรอบกฎหมายและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อุดช่องโหว่ทางกฎหมาย
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย AI เฉพาะ หรือกฎหมาย AI ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ได้มีการออก Guideline หรือแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับ AI แล้ว 2 ฉบับ ซึ่งกำหนดให้ AI ต้องมีจริยธรรม, มีมาตรฐาน, ปราศจากอคติ และมีความรับผิดชอบ แต่การระบุว่าเป็นความผิดตามกฎหมายโดยตรงยังไม่มี ปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์ เช่น สแกม หรือข่าวปลอม มักมีต้นตอมาจากภายนอกประเทศ ซึ่งทำให้ยากต่อการเอาผิดทางกฎหมายในปัจจุบัน
รองนายกฯ กล่าวต่อว่า "เพื่อจัดการกับปัญหานี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการ ยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์ม โดยคาดว่าพระราชบัญญัติไซเบอร์จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในสัปดาห์หน้า หากทันก็จะมีเรื่องของพระราชบัญญัติเศรษฐกิจแพลตฟอร์มด้วย นอกจากนี้ ยังมีการออกประกาศอีกประมาณ 10 ฉบับ เพื่อรองรับพระราชกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการคืนเงินผู้เสียหายซึ่งจะครอบคลุมถึงธนาคารและผู้ให้บริการด้วย ร่างกฎหมายสำคัญอื่นๆ ที่คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในสัปดาห์หน้า ได้แก่ พระราชบัญญัติเกม และพระราชบัญญัติอุตุนิยมวิทยา ส่วนพระราชบัญญัติไปรษณีย์ยังไม่แล้วเสร็จ ต้องรอในอีกสักระยะ
สำหรับกรณีที่มีการกล่าวอ้างถึงการโจมตีระบบไซเบอร์ของประเทศไทยจากกัมพูชานั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นเพียงการกล่าวอ้าง และยังไม่มีการโจมตีใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบไซเบอร์ของประเทศอย่างจริงจัง ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งจากหน่วยงานความมั่นคงและฝ่ายต่างๆ เพื่อป้องกันการโจมตีและการพยายามเข้าถึงระบบ ซึ่งยังไม่มีรายงานความสำเร็จในการทำลายหรือแฮกระบบของไทย
ยุทธศาสตร์ AI ต่อเนื่องเพื่ออนาคตดิจิทัลที่ยั่งยืน
การขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง AI ระดับโลก และการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ไปพร้อมกัน ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือกับนานาชาติและภาคเอกชน โดยคณะกรรมการ AI แห่งชาติได้ถูกจัดตั้งขึ้นแล้ว สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อวางแผนการลงทุนในปี 2568-2570 และแผนการพัฒนาบุคลากรควบคู่กันไป ทั้งหมดนี้เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน และเพื่อผลักดันให้ AI ที่มีมาตรฐานทางจริยธรรมและความโปร่งใสสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างการเข้าถึง AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก