3 พ.ค. 2568 229 0

'โครงการพัฒนาบุคลากรไซเบอร์ ระยะที่ 2' สำเร็จแล้วกว่า 100,000 คน เสริมทัพความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ไทยเทียบเท่าสากล

'โครงการพัฒนาบุคลากรไซเบอร์ ระยะที่ 2' สำเร็จแล้วกว่า 100,000 คน เสริมทัพความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ไทยเทียบเท่าสากล

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัดแถลงข่าวความสำเร็จและพิธีปิด “โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ ระยะที่ 2 (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program II)” พร้อมพิธีมอบประกาศนียบัตรและโล่ศิษย์เก่าดีเด่นของสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (THNCA) ณ ห้องอัศวิน แกรนด์ บอลรูม โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมี ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธี และ พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวรายงานผลการดำเนินงาน


พลอากาศตรี อมรฯ เปิดเผยว่า โครงการนี้ดำเนินการโดย THNCA ภายใต้การกำกับของ สกมช. และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายในการยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหาร ผลจากโครงการระยะที่ 2 มีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 13,000 คน จากเป้าหมายเดิมเพียง 6,650 คน กลุ่มเป้าหมายรวมถึงบุคลากรในหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจพัฒนาทักษะด้านไซเบอร์อีกหนึ่งความสำเร็จเด่น คือ จำนวนผู้สอบผ่านใบประกาศนียบัตรความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศระดับนานาชาติ (CISSP) ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก 385 คน เป็น 431 คน หรือเพิ่มขึ้น 12% ซึ่งสะท้อนถึงมาตรฐานการอบรมที่มีคุณภาพ และสามารถพัฒนาศักยภาพบุคลากรได้อย่างเป็นรูปธรรม โครงการยังมีการจัดอบรมหลักสูตรเฉพาะทาง อาทิ การวิเคราะห์ภัยคุกคามไซเบอร์ (Cyber Threat Intelligence), การเจาะระบบอย่างมีจริยธรรม (Ethical Hacking), ความมั่นคงปลอดภัยระบบควบคุมอุตสาหกรรม (OT Security), การพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล (Digital Forensics) และการบริหารจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์ระดับสูง สำหรับผู้บริหารองค์กร

พลอากาศตรี อมรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จของโครงการยังรวมถึงการเปิดตัว “สถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (Thailand National Cyber Academy – THNCA)” อย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ วิจัย และพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ โดยมีเป้าหมายเป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้ที่แข่งขันได้ในระดับสากล

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านหลักสูตรระดับผู้บริหาร Executive CISO รุ่นที่ 2 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน 73 คน พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติแก่ศิษย์เก่าดีเด่น THNCA ประจำปี 2568



ประเสริฐฯ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบซึ่ง “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ถือเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้ กระทรวงฯ ภายใต้นโยบาย “The Growth Engine of Thailandได้เร่งผลักดันการพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อให้ประเทศสามารถใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น การเปิดบัญชีม้า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และเว็บพนัน โดยจะประสานงานกับทุกภาคส่วน เพิ่มประสิทธิภาพระบบอายัดบัญชีให้รวดเร็ว และจัดตั้ง “ศูนย์เตือนภัยไซเบอร์ (Cyber Alert Center)” เพื่อรับมือการโจมตีจากต่างประเทศ รวมถึงยกระดับศูนย์ประสานงานด้านไซเบอร์ทั้งในภาครัฐและเอกชน พร้อมสนับสนุนการใช้ระบบคลาวด์ภาครัฐที่ปลอดภัย


ประเสริฐฯ กล่าวด้วยว่า “ใบประกาศนียบัตรที่ทุกท่านได้รับในวันนี้ ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ของความสำเร็จ แต่คือพลังในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคงในยุคดิจิทัล และโครงการนี้ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นการเริ่มต้นสู่อนาคตที่ประเทศไทยจะมีความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับนานาชาติ”




ภายในงานยังมีการประกาศเกียรติคุณแก่ “ศิษย์เก่าดีเด่น สถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (THNCA)” ประจำปี 2568 เพื่อเชิดชูผู้มีผลงานโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ ครอบคลุมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน โดยแบ่งออกเป็น 14 สาขารางวัล การมอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น THNCA ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการยกย่องบุคลากรที่มีบทบาทในการเสริมสร้างรากฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสถาบันฯ ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง




ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไทยเร่งผลิตบุคลากร ฝึกซ้อมรับมือภัยคุกคาม 

ท่ามกลางสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้น ทั้งการโจมตีด้านข้อมูลและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และเสริมสร้างความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

ความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาบุคลากรไซเบอร์

ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่า ปัญหาภัยคุกคามส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พร้อมของบุคลากร ดังนั้น การมีบุคลากรที่เข้มแข็ง สามารถปกป้อง ควบคุม และป้องกันสถานการณ์ที่เป็นปัญหาได้ด้วยตนเอง จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้บุคลากรจากทุกภาคส่วนมีโอกาสได้รับการพัฒนา ทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นระดับกรมในภาครัฐ หรือภาคเอกชน ต่างก็ต้องมีหน่วยงานด้านนี้อยู่ในองค์กรอยู่แล้ว โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจประกันภัย ธนาคาร หรือนิติบุคคลขนาดใหญ่ที่ถือข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในอนาคตจำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบในแผนกนี้โดยตรง

โครงการฝึกอบรมเพื่อสร้างบุคลากรไซเบอร์

ปัจจุบันมีการเปิดอบรมหลักสูตรสำหรับบุคลากรด้านนี้แล้ว 2 รุ่น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้สมัครจำนวนมาก แต่สามารถรับได้จำนวนไม่มาก แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้เข้าอบรม โดยเฉพาะระดับผู้บริหาร การอบรมรุ่นล่าสุดมีผู้เข้าอบรม 73 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้บริหาร ประกอบด้วย อธิบดี รองอธิบดี และรองปลัดกระทรวง เช่น รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเพิ่งสำเร็จการอบรมไป ผู้ที่สำเร็จการอบรมแล้วจะต้องนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและสร้างประโยชน์ในองค์กรของตนเอง

ความพร้อมและการซักซ้อมรับมือภัยคุกคาม

ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ และต้องมีการซักซ้อมตลอดเวลา โดยจำลองสถานการณ์จริงว่าหากเกิดภัยขึ้นจะทำอย่างไร มีความกังวลว่าหากเกิดเหตุการณ์จริงอาจจะรับมือได้ไม่ทัน เหมือนเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทุกคนต่างตกใจ

การโจมตีทางไซเบอร์ขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยเฉพาะการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น ระบบไฟฟ้าและระบบน้ำ ที่อาจทำให้ไม่สามารถจ่ายพลังงานหรือน้ำได้ แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่เคยเกิดการโจมตีระดับประเทศลักษณะนี้ แต่ในยุโรปและเอเชีย ประเทศใหญ่ๆ ต่างเตรียมพร้อมรับมือเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาเคยมีการโจมตีลักษณะนี้เกิดขึ้นในอดีต แต่ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ใหญ่ระดับประเทศ เช่น การโจมตีโรงพยาบาลแห่งเดียว ซึ่งสามารถเข้าไปแก้ไขได้ ประเทศไทยมีแผนรองรับการโจมตีระบบอยู่แล้ว และเคยมีการซ้อมจำลองเหตุการณ์ครอบคลุมทุกโครงสร้างพื้นฐาน

อันดับด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของไทย

ประเทศไทยมีอันดับที่ดีด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 7 ของโลก ในด้านประเทศที่มีความปลอดภัยทางไซเบอร์

สถานะทางกฎหมาย

ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายบังคับองค์กรให้มีหน่วยงานด้านนี้โดยตรง แต่มีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หากข้อมูลรั่วไหลและไม่มีการป้องกัน จนก่อให้เกิดความเสียหาย อาจเข้าข่ายเป็นปัญหาทางกฎหมายได้