28 เม.ย. 2568 341 0

AOC 1441 เตือนภัยโจรออนไลน์ ลวงสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน หลอกติดตั้งแอปดูดเงิน สูญกว่า 15 ลบ.!!

AOC 1441 เตือนภัยโจรออนไลน์ ลวงสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน หลอกติดตั้งแอปดูดเงิน สูญกว่า 15 ลบ.!!

วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 21 - 27 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 2,623,227 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line ใช้ชื่อว่า IT Cyber DR Recovery อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแทรกแซงตลาดหลักทรัพย์และนำเงินจากมิจฉาชีพมาคืนแก่ผู้เสียหายได้ ให้ติดต่อ Line ฝ่ายบริหารบัญชีเพื่อพูดคุยรายละเอียด แล้วให้ผู้เสียหายโอนเงินเป็นค่าธรรมเนียม ค่าตรวจสอบเส้นทางการเงิน และค่าอื่นๆ เมื่อผู้เสียหายถามถึงความคืบหน้าทางคดีพบว่าไม่ตอบคำถามใดๆ และไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 3,478,347 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านข้อความ SMS แจ้งว่ามีพัสดุติดค้างไม่สามารถติดต่อผู้รับได้ แจ้งให้กดลิงก์ที่เป็นการเพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นมีการพูดคุยรายละเอียด และส่ง QR code ให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน แจ้งว่าเป็นการเคลมสินค้า สแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน ต่อมาได้รับข้อความจาก Mobile Banking แจ้งว่าเงินถูกโอนออกจากบัญชี ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 3,104,380 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาชักชวนให้ลงทุนหารายได้พิเศษผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียด กดลิงก์ที่แสดงไว้หน้าเพจและเพิ่มเพื่อนทาง Line เป็นงานยืนยันรายการสินค้าออนไลน์ โดยโอนเงินลงทุนเข้าไปก่อนจึงจะได้รับค่าคอมมิชชันตอบแทน เมื่อลงทุนในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง จึงโอนเงินไปเพิ่มและทำกิจกรรมตามที่มิจฉาชีพแจ้ง เมื่อจะถอนเงินแต่ไม่สามารถถอนได้ จากนั้นพยายามติดต่อปลายทาง พบว่าไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 2,896,515 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook แจ้งว่าได้รับหมอนสุขภาพฟรี จึงกดลิงก์เข้าไป มีการแจ้งกลับมาว่าจะต้องร่วมกิจกรรมก่อนจึงจะได้รับหมอนสุขภาพฟรี

มิจฉาชีพชักชวนร่วมกิจกรรมลงทุนเล่นหุ้น ช่วงแรกลงทุนยอดน้อยๆ ได้รับค่าตอบแทน ภายหลังมีการลงทุนเพิ่มอีก และยอดสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้องการถอนเงิน แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ อ้างว่าทำรายการไม่ถูกต้อง ให้โอนเงินแก้ไขรายการซ้ำไปเรื่อยๆ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 3,617,435 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่นิติกรของเครือข่ายโทรศัพท์ AIS แจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน จะต้องโอนเงินให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ถ้าไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดตามกฎหมายขั้นร้ายแรง มีการโอนสายไปยังผู้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองเลย หลังจากนั้นมีการเพิ่มเพื่อนทาง Line แนะนำให้ผู้เสียหายทำตามขั้นตอนให้ข้อมูลเลขที่บัญชี ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงให้ความร่วมมือและโอนเงินไป หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อมิจฉาชีพได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 15,719,904 บาท


ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 25 เมษายน 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,660,003 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,063สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 620,325 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,241 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 197,113 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.78 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 146,355 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.59 (3) หลอกลวงลงทุน 90,727 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.63 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 74,008 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.93 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 44,608 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.19 (และคดีอื่นๆ 67,514 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 10.88)

จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยหลอกลวงว่ามีพัสดุตกค้าง แล้วหลอกให้ติดตั้งแอปฯ เพื่อสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน ติดตั้งแอปฯ ดูดเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย นอกจากนี้การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของ AIS ข่มขู่ผู้เสียหายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน รวมถึงยังมีการหลอกลวงลงทุนต่างๆ ซึ่งพบว่ามีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 15 ล้านบาท ทั้งนี้ขอย้ำว่า หากมีการให้ยืนยันตัวตน ผ่านการสแกนใบหน้า หรือกดลิงก์ใดๆ เพื่อติดตั้งแอปฯ อย่าดำเนินการเด็ดขาด เนื่องจากเสี่ยงต่อการถูกดูดเงินหรือดึงข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการโทรติดต่อโดยตรง

หรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย และจะไม่มีการให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชีแต่อย่างใด ดังนั้นหากมีการติดต่อเข้ามา ให้ประเมินว่าเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบและติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด” วงศ์อะเคื้อ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวงดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

 

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441

แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)

| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com