23 เม.ย. 2568 365 0

ดีป้า เผยผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม ปี 67 ขยับสู่ระดับ 2.0

ดีป้า เผยผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม ปี 67 ขยับสู่ระดับ 2.0


ดีป้า เผยผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2567 ระบุอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 2.0 พบส่วนใหญ่เริ่มนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มดิจิทัล และโซลูชันมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อีกทั้งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรม แนะภาคอุตสาหกรรมไทยเร่งปรับตัวเพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้

การสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรมเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับ

การวางแผนพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ โดยดำเนินการสำรวจใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมสิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อุตสาหกรรมผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ อุตสาหกรรมกระดาษและการพิมพ์ อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งดำเนินการสำรวจตามกรอบแนวทางดังกล่าวในปี 2563, 2564 และล่าสุดในปี 2567

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2567 พบว่า 70% ของกลุ่มตัวอย่างมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 2.0: Solution (การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบบฟอร์มออนไลน์ หรือระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มความสะดวกในการทำงาน) จากระดับ 1.0: Manual (การทำงานแบบดั้งเดิมที่ใช้เครื่องมือ Analog และกระบวนการแบบ Manual เช่น โทรศัพท์ แฟกซ์ และการส่งเอกสารผ่านอีเมล) ในปี 2564 โดยส่วนใหญ่เริ่มนำเครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มดิจิทัล และโซลูชันมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อีกทั้งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมการผลิตแบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามกระบวนการทำงาน ประกอบด้วย

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 2.0 ซึ่ง 57% ของกลุ่มตัวอย่างมีการใช้คำสั่งซื้อออนไลน์ โดยการเปิดเว็บไซต์เพื่อรับคำสั่งซื้อและการชำระเงิน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (ออกแบบผลิตภัณฑ์) ผลสำรวจชี้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 1.0 โดย 90.67% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงใช้โปรแกรมช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น Computer-Aided Design (CAD) หรือการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยวาดภาพ 2D/3D และสร้างชิ้นส่วน เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการจัดการกระบวนการผลิต ผลสำรวจชี้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 1.0 โดย 87.33% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติที่เรียบง่าย เช่น การใช้ Computer Numerical Control (CNC) หรือเครื่องจักรกลแบบอัตโนมัติที่มีการทำงานด้วยระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งระบบอัตโนมัติทั้งหมดหรือบางส่วน เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ผลสำรวจชี้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 1.0 โดย 70% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงใช้อีเมลเพื่อติดต่อลูกค้า และเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ผลสำรวจชี้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 1.0 โดย 69.33% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงใช้ระบบสารสนเทศแบบแยกส่วนในบางแผนก/ฝ่าย


อย่างไรก็ตาม แม้ภาคอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล และให้ความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระดับ 4.0: Automation โดยมีแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สูงขึ้น มีการใช้ระบบอัตโนมัติ/ระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการและวางแผนมากขึ้น มีการนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อใช้บริหารจัดการธุรกิจเพิ่มขึ้น และแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขยับตัวไปที่ระดับ 3.0: Platform มากขึ้น แต่ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างยังชี้ให้เห็นว่า การขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การขาดแคลนพนักงาน/แรงงานที่มีทักษะดิจิทัล การขาดแคลนเงินทุน และการที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดเล็กยังไม่เหมาะที่จะลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งหมดถือเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับที่สูงขึ้น

ด้วยแรงกดดันจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขัน แม้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมที่จัดโดย UNIDO แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังครองอันดับที่สาม รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่หากไม่เร่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ ทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากร และการส่งเสริมการทำ Digital Transformation โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ประเทศไทยอาจต้องเผชิญความเสี่ยงในการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจากผลิตภาพการผลิตสูงถึงกว่า 1.8 ล้านล้านบาทต่อปี หรือ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว


นอกจากนี้ ภายในงานแถลงผลสำรวจฯ ดีป้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศความร่วมมือ
การจัดทำข้อมูลเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของไทยอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมจัดการเสวนาในหัวข้อ
Data-driven Industry: ผนึกกำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย โดยมี สุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ รักษาการ ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธีรทัศน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อมฤต ฟรานเซน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.อุมา วิรัตน์สกุลชัย ผู้แทนสำนักงานภูมิภาค UNIDO และ
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านการส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายผลทางธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 รวมถึงผลสำรวจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัลในมิติต่าง ๆ ที่ ดีป้า ดำเนินการได้ทาง www.depa.or.th/th/depakm/digital-indicators, LINE OA: depaThailand และ Facebook Page: depa Thailand


ผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม

การสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรมเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับ

การวางแผนพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ โดยดำเนินการสำรวจใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมสิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อุตสาหกรรมผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ อุตสาหกรรมกระดาษและการพิมพ์ อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งดำเนินการสำรวจตามกรอบแนวทางดังกล่าวในปี 2563, 2564 และล่าสุดในปี 2567


สำหรับผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2567 พบว่า 70% ของกลุ่มตัวอย่างมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 2.0: Solution (การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบบฟอร์มออนไลน์ หรือระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มความสะดวกในการทำงาน) จากระดับ 1.0: Manual (การทำงานแบบดั้งเดิมที่ใช้เครื่องมือ Analog และกระบวนการแบบ Manual เช่น โทรศัพท์ แฟกซ์ และการส่งเอกสารผ่านอีเมล) ในปี 2564 โดยส่วนใหญ่เริ่มนำเครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มดิจิทัล และโซลูชันมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อีกทั้งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมการผลิตแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ตามกระบวนการทำงาน ประกอบด้วย


1. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 2.0 ซึ่ง 57% ของกลุ่มตัวอย่างมีการใช้คำสั่งซื้อออนไลน์ โดยการเปิดเว็บไซต์เพื่อรับคำสั่งซื้อและการชำระเงิน ขณะที่บางอุตสาหกรรม เช่น ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ รวมถึงยางและผลิตภัณฑ์ยาง เริ่มใช้ระบบ ERP ในการบริหารคลังสินค้า


2. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (ออกแบบผลิตภัณฑ์) ผลสำรวจชี้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 1.0 โดย 90.67% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงใช้โปรแกรมช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น Computer-Aided Design (CAD) หรือการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยวาดภาพ 2D/3D และสร้างชิ้นส่วน ขณะที่บางอุตสาหกรรม เช่น ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เริ่มนำระบบจัดการข้อมูลผลิตภัณฑ์ เช่น Product Data Management (PDM) และ Product Lifecycle Management (PLM) มาใช้ออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ กระดาษและการพิมพ์ รวมถึงยางและผลิตภัณฑ์ยาง เริ่มนำ AI และ VR มาใช้จำลองหรือสร้างโลกเสมือนในรูปแบบสามมิติเพื่อช่วยออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์


3. เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการจัดการกระบวนการผลิต ผลสำรวจชี้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 1.0 โดย 87.33% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติที่เรียบง่าย เช่น การใช้ Computer Numerical Control (CNC) หรือเครื่องจักรกลแบบอัตโนมัติที่มีการทำงานด้วยระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งระบบอัตโนมัติทั้งหมดหรือบางส่วน เช่น การใช้หุ่นยนต์ หรือการใช้ Programmable Logic Controller (PLC) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิตในเกือบทุกอุตสาหกรรม ยกเว้นอุตสาหกรรมผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ รวมถึงอุตสาหกรรมกระดาษและการพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีการนำระบบประมวลผลการผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น การใช้ Manufacturing Execution System (MES) หรือการใช้ Automated Guided Vehicle (AGV) มาใช้ในกระบวนการผลิต

ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอุตสาหกรรมผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์


4. เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ผลสำรวจชี้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 1.0 โดย 70% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงใช้อีเมลเพื่อติดต่อลูกค้า และใช้ Customer Relationship Management (CRM) มาช่วยสนับสนุนความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งทุกอุตสาหกรรมนำระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก หรือ Customer Data Analytics โดยการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า เช่น ข้อมูลการเข้าเว็บไซต์ ข้อมูลผลลัพธ์การโฆษณา ข้อมูลการใช้ Social Media ก่อนนำข้อมูลดังกล่าวมาสร้าง Big Data และนำมาวิเคราะห์เพื่อเข้าใจพฤติกรรมการใช้จ่ายและความต้องการของลูกค้าเพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์/บริการที่ตรงกับความต้องการ ทั้งนี้มีบางอุตสาหกรรม เช่น ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ กระดาษและการพิมพ์ เริ่มใช้ระบบ AI ในการให้บริการลูกค้า เช่น Chatbot และระบบการตอบกลับอัตโนมัติไปยังข้อความใน Social Media


5. เทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ผลสำรวจชี้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 1.0 โดย 69.33% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงใช้ระบบสารสนเทศแบบแยกส่วนในบางแผนก/ฝ่าย เช่น การใช้ระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) ในการบริหารจัดการธุรกิจ นอกจากนี้ ในบางอุตสาหกรรม เช่น ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ เริ่มใช้ระบบสารสนเทศขั้นสูง เช่น การใช้ Business Intelligence Tools หรือซอฟต์แวร์หรือเครื่องมือที่เกี่ยวกับการเก็บรวมรวบข้อมูล ทั้งข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูลเทคโนโลยี ข้อมูลการตลาด และข้อมูลทางธุรกิจอื่น ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ธุรกิจในแต่ละด้าน และวางแผนการดำเนินงานล่วงหน้า ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มมีการใช้ระบบ AI เช่น การทำ Big Data Analytics หรือการวิเคราะห์เซ็ตข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อค้นหารูปแบบความสัมพันธ์ของข้อมูลเหล่านั้น เช่น การหาเทรนด์ทางการตลาด ความต้องการของลูกค้า และข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจ