20 เม.ย. 2568 308 0

ETDA เปิดเวทีปลดล็อกทุกข้อสงสัย ดัน ‘e-Receipt’ ยกระดับงานเบิกจ่ายภาครัฐสู่ดิจิทัล

ETDA เปิดเวทีปลดล็อกทุกข้อสงสัย ดัน ‘e-Receipt’ ยกระดับงานเบิกจ่ายภาครัฐสู่ดิจิทัล


หากยังมีใครติดภาพจำว่า “หน่วยงานภาครัฐล่าช้า ไม่ทันสมัย” อาจต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ เพราะหลังจากนโยบาย “รัฐบาลดิจิทัล” ถูกประกาศใช้ หลายหน่วยงานก็เร่งปรับระบบภายในและยกระดับบริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างจริงจัง โดยหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือการเปลี่ยนจากเอกสารกระดาษเป็น e-Document โดยเฉพาะ e-Receipt หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำลังได้รับการผลักดันให้ใช้แทนกระดาษ เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว โปร่งใส และลดภาระงานซ้ำซ้อน แม้หลายๆ หน่วยงานนำมาใช้แล้ว แต่บางหน่วยงานก็อาจยังมีคำถาม “ตกลง e-Receipt ใช้ได้จริงแค่ไหน?” “ใช้แล้วจะเบิกจ่ายได้หรือไม่?” และ “หากต้องการใช้บ้างต้องทำอย่างไร?” และอีกหลายข้อสงสัยที่เกิดขึ้น

เพื่อคลายข้อสงสัยนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ที่มุ่งส่งเสริมให้ภาครัฐเกิดการเปลี่ยนผ่านด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านกลไกของกฎหมาย มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่พลาดเปิดเวที ชวนผู้เชี่ยวชาญจากหน่วงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กรมบัญชีกลาง ซึ่งมีบทบาทโดยตรงในการกำหนดกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางการใช้งาน e- Receipt ในการเบิกจ่ายภาครัฐ และ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตัวแทนหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการนำ e-Receipt มาใช้ มาร่วมพูดคุยคลายทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ e-Receipt ใน ETDALive ไลฟ์กำลังดี EP.2: “ติดสปีด e-Services รัฐ เบิกจ่ายออนไลน์ง่าย กับ e-Receipt”


e-Receipt คืออะไร ดีกว่า สะดวกกว่า ใบเสร็จแบบกระดาษ?

e-Receipt หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ คือเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานในการชำระเงิน ซึ่งจัดทำขึ้นในรูปแบบดิจิทัล สามารถใช้แทนใบเสร็จแบบกระดาษได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะภายใต้กรอบ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐหันมาใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารกระดาษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการให้บริการแก่ประชาชน ข้อดีของ e-Receipt มีมากกว่าการเปลี่ยนรูปแบบเอกสาร เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนด้านกระดาษและการพิมพ์แล้ว ยังช่วยลดภาระด้านการจัดเก็บและค้นหาเอกสาร ลดความเสี่ยงจากการสูญหายหรือถูกปลอมแปลง รวมถึงช่วยให้กระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณมีความรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้มากขึ้น ส่งผลให้หน่วยงานสามารถบริหารจัดการภายในได้อย่างคล่องตัว และเพิ่มความมั่นใจ
ให้กับประชาชนที่มารับบริการ


หมดข้อกังวลใจ!  e-Receipt ปลอดภัย เชื่อถือได้

แม้ e-Receipt จะมีประโยชน์และตอบโจทย์ แถมหน่วยงานรัฐยังเปิดไฟเขียวผลักดันเต็มที่ แต่หลายๆ หน่วยงานก็ยังลังเลที่จะเปลี่ยนไปใช้ ด้วยเหตุผลหลัก ๆ ทั้ง ข้อจำกัดด้านความเข้าใจ โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่อาจยังไม่พร้อมรองรับ และไม่มั่นใจว่าหากใช้ e-Receipt จะปลอดภัยหรือไม่ หรือใช้ทำเบิกจ่ายได้จริงหรือไม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจาก ETDA ยืนยันว่าหากดำเนินการถูกต้องตามมาตรฐานที่ ETDA กำหนดไว้ ปลอดภัย เชื่อถือได้ กฎหมายรองรับอย่างแน่นอน เพราะ e-Receipt ที่ใช้เบิกจ่ายได้ ต้องมีการลงนามด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถืออย่าง  Digital Signature ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานกลางที่เรียกว่า CA (Certificate Authority) ที่ได้รับการรับรองจาก ETDA ซึ่งในการลงนามนี้ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ลงนามหรือองค์กรก่อนว่า เป็นบุคคลหรือหน่วยงานจริง และทุกครั้งที่ลงนามจะต้องมีการยืนยันตัวตนที่รัดกุม เช่น กรอก PIN หรือรหัสผ่าน นอกจากนี้ยัง มีระบบที่ตรวจสอบได้ว่าการลงนามด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ใน e-Receipt นั้นถูกต้องหรือไม่ ถูกเปลี่ยนแปลงภายหลังหรือเปล่า หากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น แก้ไขตัวเลขหรือวันที่ ระบบจะสามารถตรวจจับได้ทันที


“โรงพยาบาลรามาธิบดี” เริ่มใช้ e-Receipt แล้ว

แม้การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ e-Receipt ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่หลายหน่วยงานก็เดินหน้าอย่างจริงจัง หนึ่งในต้นแบบความสำเร็จคือ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่สามารถปรับเปลี่ยนระบบจากกระดาษมาเป็น e-Receipt ได้เต็มรูปแบบในปี 2567 ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการวางแผนและเตรียมการ
อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 โดยเริ่มจากการศึกษากฎระเบียบของกรมบัญชีกลาง, ETDA และหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้เข้าใจแนวทางที่ถูกต้องในทุกมิติ จากนั้นจึงพัฒนาระบบ e-Service ที่เชื่อมโยงการให้บริการต่าง ๆ เข้ากับระบบ e-Receipt พร้อมปรับโครงสร้างพื้นฐานไอทีให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ออกแบบใบเสร็จให้ตรงตามหลักเกณฑ์ และใช้ Digital Signature ผ่าน CA ที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้ ยังผสานระบบกับแอปฯ ชำระเงินของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับใบเสร็จผ่านสมาร์ตโฟนได้ทันที โดยไม่ต้องใช้กระดาษ พร้อมวางระบบจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัย ตรวจสอบย้อนหลังได้ และเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

อีกหนึ่งหัวใจสำคัญคือ การสื่อสารแบบรอบด้าน กับบุคลากรภายใน ผู้รับบริการ หน่วยงานต้นสังกัด และ Third Party กว่า 100 แห่ง เพื่อสร้างความเข้าใจและความมั่นใจ ซึ่งถือเป็นส่วนที่ท้าทายที่สุด จนนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ได้คือ การลดต้นทุน ลดภาระงาน เพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้บริการอย่างเห็นได้ชัด จนกลายเป็นต้นแบบของหน่วยงานรัฐยุคใหม่ที่กล้าก้าวข้ามกรอบเดิม และปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มภาคภูมิ


4 กลไกต้องมี หากอยากใช้ e-Receipt

จากความสำเร็จของโรงพยาบาลรามาธิบดี สามารถสรุปได้ว่า หากหน่วยงานใดสนใจที่จะเริ่มต้นใช้
e-Receipt จำเป็นต้องมี 4 องค์ประกอบหลักๆ ดังนี้

  ต้องมี e-Service ก่อน ถึงจะมี e-Receipt ได้  การออก e-Receipt จะทำได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงานมี
ระบบ e-Serviceที่รองรับการรับ-จ่ายเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพราะใบเสร็จจะต้องเชื่อมโยง
กับกระบวนการรับชำระผ่านระบบเท่านั้น หากยังใช้เงินสดหรือระบบ manual จะไม่สามารถออก e-Receipt ได้

  ต้องศึกษากฎระเบียบและมาตรฐานให้รอบด้าน ทั้งระเบียบของกรมบัญชีกลาง เช่น หนังสือเวียน ว.39 และ ว.3 ที่กำหนดรูปแบบใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ รูปแบบไฟล์ที่ต้องใช้ และข้อมูลสำคัญที่ต้องมีบน e-Receipt รวมถึงมาตรฐานที่กำหนดโดย ETDA และข้อบังคับอื่นๆ ของหน่วยงานต้นสังกัด

  ต้องมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ที่เชื่อมโยงกระบวนการต่างๆ เข้าด้วยกันตั้งแต่การรับเงิน การออกใบเสร็จ การส่งมอบใบเสร็จผ่านช่องทางดิจิทัล ไปจนถึงการจัดเก็บข้อมูล
และดูแลรักษาความปลอดภัย

  ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องวางแผนแผนสื่อสารอย่างรอบด้าน ประชาสัมพันธ์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งบุคลากรภายใน หน่วยงานภายนอก และประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อลดข้อกังวล สร้างความเข้าใจและมั่นใจในการใช้บริการ


กรมบัญชีกลาง X ETDA พร้อมลุยสร้างความมั่นใจ ชวนรัฐ-เอกชนใช้ e-Receipt

สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่สนใจ อยากใช้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร กรมบัญชีกลาง และ ETDA พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดย กรมบัญชีกลาง ในฐานะหน่วยงานกำหนดนโยบายหลัก ได้วางหลักเกณฑ์กลางและองค์ประกอบของ e-Receipt ที่สามารถใช้ในการเบิกจ่ายงบประมาณได้ไว้อย่างชัดเจนในหนังสือเวียน ว.39 และ ว.3 ซึ่งหน่วยงานต่างๆ สามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการได้ทันที พร้อมทั้งมีการสื่อสาร ชี้แจง และตอบข้อสงสัยกับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อคลายความกังวล โดยเฉพาะประเด็นที่หลายหน่วยงานยังไม่มั่นใจว่า e-Receipt จะสามารถใช้เบิกงบได้จริงหรือไม่

ขณะเดียวกัน ETDA ก็ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในทุกขั้นตอนของการใช้ e-Receipt ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการใช้งานจริง โดยสนับสนุนทั้งด้านกฎหมาย เทคนิคมาตรฐาน และความปลอดภัย เช่น

      ให้คำปรึกษาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้ง ด้านกฎหมายและด้านเทคนิค มาตรฐานข้อมูล และความปลอดภัย

      การใช้งาน Digital Signature ที่ได้มาตรฐาน พร้อมรายชื่อ Certificate Authority (CA) ที่ผ่านการรับรองจาก ETDA บนเว็บไซต์

นอกจากนี้ ETDA ยังมีเครื่องมือสนับสนุนฟรี เช่น TEDA Web Validation Portal สำหรับตรวจสอบ
ความถูกต้องของ e-Receipt พร้อมกันนี้ยังจัดทำคู่มือ, จัดอบรม และเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจและความมั่นใจให้กับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ e-Receipt อย่างมั่นคง ปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมาย

ถึงตอนนี้ คำถามสำคัญจึงไม่ใช่ “e-Receipt ใช้ได้จริงไหม?” แต่คือ “คุณพร้อมเริ่มหรือยัง?”เพราะสิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การเรียนรู้และลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ แต่คือความกล้าตัดสินใจที่จะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง ติดตามความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมที่ ETDA Thailand