วานนี้ (10 เมษายน 2568), ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า ชี้มาตรการภาษีทรัมป์เป็นการโยนหินถามทางเพื่อสังเกตท่าทีของคู่ค้าสหรัฐฯ แต่ยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบต่อ GDP ไทย คาดมาตรการดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลทันที แนะไทยเร่งหาตลาดใหม่ทดแทน และสร้างช่องทางการส่งออกให้กับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เพื่อสร้างรายได้จากการส่งออกและโอกาสทางธุรกิจ อีกทั้งเป็นการกระจายเม็ดเงินสู่ระดับฐานราก
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์
ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า
เปิดเผยว่า การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal
Tariff) โดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐาน
10% สำหรับสินค้าทุกประเภทจากทุกประเทศ
ส่วนประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา
36% จากเดิมที่มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่
9 เมษายนที่ผ่านมานั้นถือเป็นการโยนหินถามทางเพื่อสังเกตท่าทีของคู่ค้าสหรัฐฯ
แต่ยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบต่อ GDP ของประเทศ อย่างไรก็ตาม
มาตรการดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลอย่างทันท่วงที ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศล่าสุดกับการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากคู่ค้าส่วนใหญ่ลงเหลือ
10% เป็นเวลา 90
วัน เพื่อเปิดทางให้เกิดการเจรจาการค้า โดยมีผลบังคับใช้ทันที
ยกเว้นสาธารณรัฐประชาชนจีนที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเป็น 125%
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า
ประเทศไทยจะต้องเตรียมการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาตลาดใหม่ทดแทนสหรัฐฯ
ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนสถานะให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าเพิ่ม
และการสร้างช่องทางการส่งออกให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม
และรายย่อย โดยไทยจะมีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการเหล่านั้น
ซึ่งถือเป็นการกระจายเม็ดเงินสู่ระดับฐานราก และเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ รวมไปถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม
PromptTrade หรือระบบการค้าระหว่างประเทศรูปแบบดิจิทัล