20 มี.ค. 2568 279 13

ดีอี เร่งศึกษามาตรการดูแลแพลตฟอร์ม 'สตรีมมิ่งออนไลน์' และเตรียมประชุมด้านจริยธรรม AI กับยูเนสโก

ดีอี เร่งศึกษามาตรการดูแลแพลตฟอร์ม 'สตรีมมิ่งออนไลน์' และเตรียมประชุมด้านจริยธรรม AI กับยูเนสโก

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 2/2568 ที่มีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นรองประธานกรรมการฯ นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (BDE) นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ ร่วมด้วยตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) ร่วมหารือเพื่อดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี


ประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก โดยนายกฯ ได้ตอบกระทู้ข้อซักถามของสมาชิกผู้แทนราษฎร ในสภาฯ เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันในการเยือนต่างประเทศ นายกฯ ได้ร่วมหารือเรื่องดังกล่าวกับผู้แทนประเทศต่างๆมาโดยตลอด รวมทั้งยังลงพื้นที่ชายแดน ไทย-กัมพูชา จ.สระแก้ว เพื่อติดตามการดำเนินมาตรการปราบปรามฯ



สำหรับในการประชุมได้มีการพิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์  6 เรื่องสำคัญ ที่มีผลการดำเนินงาน ถึง 17 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยสรุปได้ดังนี้ 

1.การปราบปรามจับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์ เดือน กุมภาพันธ์ 2568 (ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

- การจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทุกประเภท ก.พ. 68 มีจำนวน 4,505 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.56 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 2,495 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567 

- การจับกุมคดีพนันออนไลน์ ก.พ. 68 มีจำนวน 2,069 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.45 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 1,064 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567

- การจับกุมคดีบัญชีม้า ซิมม้า และความผิดตาม พรก.ฯ ก.พ. 68 มีจำนวน 325 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.42 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 240 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567         

2. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ (ปีงบประมาณ 68 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 67 – 28 ก.พ.  68)

- การปิดกั้นเว็บไซต์พนันออนไลน์ จำนวน 33,094 (URLs) หลอกลวงออนไลน์ จำนวน 1,130 (URLs)

- การประสานแพลตฟอร์มเพื่อขอปิดกั้นเกี่ยวกับหลอกลวงออนไลน์ ที่มีคำสั่งศาล จำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 7,338 (URLs) ที่ไม่มีคำสั่งศาล มีจำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 21,335 (URLs) (เฉพาะในส่วนของกระทรวงดีอี)

3. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน

ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 28 ก.พ. 68 มีดังนี้

- AOC ระงับบัญชีชั่วคราว จำนวน 337,690 บัญชี ธนาคารระงับบัญชี 997,600 รวม 1,335,290 บัญชี

- ปปง. ทำการอายัดบัญชีไปแล้วจำนวน 732,798  บัญชี (ณ วันที่ 18 มี.ค. 68)

- มาตรการปลดบัญชีม้า ที่ประชุมได้เห็นชอบ ให้ ปปง. มีอำนาจให้การปลดล็อกบัญชี “ม้าดำ” ได้เพียงหน่วยงานเดียว ขณะที่การดำเนินการ ปลดล็อกบัญชี “ม้าเทา” จะเป็นหน้าที่ของ บช.สอท. โดยได้พิจารณาอนุญาตให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า หากมีมากกว่า 1 บัญชี สามารถยื่นเรื่องให้ บช.สอท. ดำเนินการปลดล็อกได้ หรือขอเปิดบัญชีใหม่ได้ 1 บัญชี เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เรียกว่า “บัญชีเพื่อการยังชีพ” ซึ่งบัญชีดังกล่าวจะไม่สามารถทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้ โดยจะต้องโอน-เบิก-ถอนเงิน ที่ธนาคารเท่านั้น

- มาตรการป้องกันอาชญากรรมทางการเงินของกลุ่มธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ปปง. ก.ล.ต. และ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ได้ร่วมหารือทำความเข้าใจเพื่อการบูรณาการเชื่อมต่อข้อมูลบัญชีม้า การประกาศรายชื่อ HR-03และแนวทางการพิจารณาการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องสงสัย เพื่อควบคุมการทำธุรกรรมของมิจฉาชีพผ่านธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล


4.การแก้ไขปัญหาซิมม้า ซิมบุคคลต่างด้าว

 ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 28 ก.พ. 68 มีดังนี้

- การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผลการดำเนินงาน มีดังนี้

(1)   รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ บุคคลธรรมดา แบบเติมเงิน (Prepaid) ที่มีการโทรออกตั้งแต่ 100 ครั้งขึ้นไป/วัน ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 17 มีนาคม 2568 ถูกระงับบริการ (สะสม) จำนวน 233,338 เลขหมาย โดยมีผู้ใช้บริการกลับมาแสดงตน (สะสม) จำนวน 441 เลขหมาย และยังไม่มีการมาแสดงตนของผู้ใช้บริการ (สะสม) จำนวน 232,897 เลขหมาย (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มี.ค. 68)         

(2)   กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ด 101 เลขหมายขึ้นไป โดยมีเลขหมายที่เข้าข่าย 5,078,283 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 4,273,918  เลขหมาย จำนวนเลขหมายคงเหลือต้องมายืนยันตัวตน 804,365 เลขหมาย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มี.ค. 68)

(3) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมาย ซึ่งมีเลขหมายที่เข้าข่าย 3,981,251 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว 2,424,402 เลขหมาย จำนวนเลขหมายคงเหลือต้องมายืนยันตัวตน 1,556,849 เลขหมาย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มี.ค. 68)

-การลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่ไม่มีสัญชาติไทย ให้ใช้เอกสารแสดงตนประกอบการลงทะเบียนเพื่อเปิดใช้งานซิมการ์ด โดยใช้หนังสือเดินทาง (Passport) เท่านั้น และให้มีการจำกัดการลงทะเบียนจำนวนไม่เกิน 3 เลขหมายต่อ 1 ผู้ให้บริการ รวมถึงได้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงการใช้งานเทคโนโลยีชีวมิติ (biometrics) ให้มีการใช้การตรวจสอบการปลอมแปลงอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยี “Liveness Detection” โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะต้องดำเนินการปรับปรุงระบบการลงทะเบียน ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่ง กสทช.มีมติ

-มาตรการ SMS แนบลิงก์  สำนักงาน ปปง. กสทช. สกมช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ได้ดำเนินมาตรการลงทะเบียน sender name แล้วกว่า 100,000 Sender Name จากผู้ให้บริการ 42 ราย ( ลงทะเบียนแล้ว 25 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 4 ราย อีก 13 รายไม่มีการให้บริการข้อความแนบลิงก์)

5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน


กสทช.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและกำหนดมาตรฐานความสูงของเสา และค่าความแรงของสัญญาณ 

โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือน มี.ค.68 จะสามารถตรวจสอบครอบคลุมในทุกพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งตรวจสอบการให้บริการโทรคมนาคมโดยสายสัญญาณ การลักลอบลากสายสัญญาณไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

6. การศึกษามาตรการควบคุมดูแล OTT แพลตฟอร์ม

ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ กสทช. และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาการพิจารณาออกมาตรการควบคุมดูแล แพลตฟอร์ม OTT (Over-The-Top) ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ รายการทีวี เพลง และพอดแคสต์ ได้โดยตรงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายหรือเคเบิลแบบดั้งเดิม ตัวอย่างแพลตฟอร์มยอดนิยม ได้แก่ Netfix YouTube Disney+ TikTok และ Spotify ซึ่งพบว่าอาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพใช้ก่ออาชญากรรมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การหลอกลวงออนไลน์ การเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน


สำหรับเรื่องดังกล่าวจะมีพิจารณามาตรการหลัก 5 ด้านเพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เป็นธรรมและยั่งยืน ทั้งสำหรับผู้บริโภค ผู้ให้บริการ และเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวม ดังนี้

(1.) มาตรการด้านความปลอดภัย

-ควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์และป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย  และกำหนดมาตรการยืนยันตัวบุคคลเพื่อป้องกันการใช้แพลตฟอร์มไปในทางที่ผิด

(2.) การออกระเบียบเพื่อกำกับด้านเนื้อหา

-ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถควบคุมเนื้อหาที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์ม OTT ได้อย่างเป็นรูปธรรม

-กำหนดให้แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการในไทย ต้องขอใบอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานและกฎหมายของประเทศไทย

-ผลักดันแนวทางการกำกับดูแลร่วมกัน ไปสู่เวทีระดับนานาชาติ

(3.) การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล และการจัดเก็บภาษี

-การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์ม

-กำหนดให้แพลตฟอร์ม OTT ที่มีรายได้จากผู้ใช้ในไทยต้องเสียภาษีในประเทศไทย

-ส่งเสริมการสร้างมูลค่าจากธุรกิจดิจิทัลภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

(4.) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

-กำหนดให้แพลตฟอร์ม OTT ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น GDPR ของยุโรป

-ควบคุมการเก็บและการใช้ข้อมูลของผู้ใช้งาน เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว

(5.) การกำกับดูแลด้านการแข่งขัน

-ป้องกันการผูกขาดของแพลตฟอร์ม OTT ขนาดใหญ่ที่อาจทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

-สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มท้องถิ่นและการกระจายอำนาจในตลาด


“โดยภาพรวม กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อกวาดล้างอาชญากรรมออนไลน์ บัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ รวมทั้งการระงับบัญชีม้า ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขความเสียหายลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันความคืบหน้าของการพิจารณา ร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติม ขณะนี้การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาใกล้แล้วเสร็จ โดยกระทรวงดีอี เตรียมหารือร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย ธปท. กลต. ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก. ที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป” รองนายกประเสริฐ กล่าว


รองนายกฯ ประเสริฐ หารือ 23 หน่วยงาน อัปเดตความพร้อม จัดงาน “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025”



ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดการประชุมวิชาการ “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ครั้งที่ 2/2568 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี และ พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานกรรมการร่วม ตลอดจนคณะผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมกว่า 23 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), กระทรวงการต่างประเทศ (กต.), กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.), บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (BDI), บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รวมถึง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการจัดการประชุมดังกล่าว ณ ห้องประชุมชั้น 10 สำนักงานใหญ่ NT และผ่านระบบการประชุมทางไกล



โดยที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าของการเตรียมการ การจัดงานประชุม “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ที่ประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพกับ UNESCO ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568  ผ่านการดำเนินงานภายใต้คณะทำงานทั้ง 3 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการร่วมไทยและยูเนสโกด้านสารัตถะ คณะอนุกรรมการด้านพิธีการและอำนวยการ และคณะอนุกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจร


ซึ่งผู้แทนจากทั้ง 3 คณะได้อัปเดตผลการดำเนินงานต่อที่ประชุม โดยความคืบหน้าในการดำเนินงานครอบคลุมทั้ง กำหนดการประชุมฯ ประเด็นสำคัญที่จะเกิดขึ้นในแต่ช่วง รายชื่อของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมย่อยคู่ขนานในลักษณะ Side Event เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคการศึกษา ทั้งนักวิชาการ ตลอดจนนักศึกษา ไดมีส่วนร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการต่อนานาประเทศ สร้างการรับรู้และตอกย้ำถึงการให้ความสำคัญในประเด็นจริยธรรม AI ที่วันนี้ประเทศไทยมีบทบาทและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น


โดยการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นเวทีที่ประเทศไทยจะได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และศักยภาพในการร่วมขับเคลื่อนจริยธรรม AI สอดคล้องตาม Recommendation on the Ethics of AI ของ UNESCO พร้อมนำเสนอทิศทางการขับเคลื่อนการจัดตั้ง AI Governance Practice Center หรือศูนย์กลางพัฒนาขีดความสามารถด้าน AI Governance แห่งแรกของเอเชียแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติ ทั้งในด้านวิชาการ วิจัย การพัฒนาขีดความสามารถ การพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ดี และมาตรฐานด้าน AI ที่สอดคล้องกับหลักีจริยธรรมและธรรมาภิบาล ตามแนวทางของ UNESCO ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของไทยสู่การเป็นผู้นำ การร่วมขับเคลื่อนด้านจริยธรรม AI ต่อนานาประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล” ประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือ ถึงแนวทางการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม เพื่อเร่งสร้างการรับรู้ต่อกลุ่มเป้าหมายร่วมกับี่หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ที่ต่างร่วมสนับสนุนช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้ง ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และสื่อเคลื่อนที่ต่างๆ ของหน่วยงาน เป็นต้น ทั้งยังกำชับถึงแผนการรักษาความปลอดภัยและการจราจรระหว่างการจัดการประชุม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าร่วม กว่า 800 คน จาก 193 ประเทศ ที่จะเดินทางมาร่วมประชุมพร้อมเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของประเทศไทยด้วย- ติดตามความเคลื่อนไหวของการประชุม The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025 ได้ที่เพจ ETDA Thailand