28 ก.พ. 2568 319 30

ดีอี หารือเร่งช่วยเหลือ 'วิทยุชุมชน' พร้อมประสานงานแจ้งเตือนภัยออนไลน์

ดีอี หารือเร่งช่วยเหลือ 'วิทยุชุมชน' พร้อมประสานงานแจ้งเตือนภัยออนไลน์

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานหารือการแก้ไขปัญหาการระงับคลื่นวิทยุ โดยมี อัฐฐเสฏฐ จุลเสฏฐพานิช เลขานุการรัฐมนตรีฯ, พิยะดา สุดกังวาล ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงดีอี, อัจฉรีย์ เจตินัย ผู้อำนวยการส่วนสำนักการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ชาลี นพวงศ์ ณ อยุธยา ประธานองค์กรภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนแห่งประเทศไทย (อวชท.) และ ดร.รหัส  แสงผ่อง ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกวุฒิสภา (นันทนา นันทวโรภาส) พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม


ประเสริฐ กล่าวว่า ตามที่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชน ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงดีอี ขอให้ติดตามประเด็นเรื่องการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ มีประเด็นปัญหาในส่วนของผู้ประกอบการวิทยุทดลองออกอากาศที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็มฯ ซึ่งหมดระยะเวลาการทดลองออกอากาศตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยขอให้มีการผ่อนผันการยุติการออกอากาศ หรือรื้อถอนอุปกรณ์ในการออกอากาศ 


“จากการหารือร่วมกับ กสทช. ในกรณีการขอผ่อนผันหรือขยายเวลาการออกอากาศ และกรณีการขอผ่อนผันเรื่องการเคลื่อนย้ายเสาส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ ที่ไม่ตรงกับพื้นที่ในตอนยื่นประมูลคลื่นวิทยุ เบื้องต้น กสทช.ได้ให้ผู้ประกอบการฯ ทำหนังสือยื่นคำร้องขอผ่อนผันอย่างเป็นทางการให้กับทาง กสทช. พิจารณาเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยกระทรวงฯ จะรวบรวมประเด็นต่างๆ พร้อมทั้งจัดทำหนังสือนำส่งข้อมูลรายละเอียดประเด็นปัญหาดังกล่าวให้แก่สำนักงาน กสทช. พิจารณาดำเนินการ และชี้แจงผลการดำเนินการให้แก่กระทรวงฯ รับทราบและติดตามเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป” รองนายกฯ ประเสริฐ กล่าว




อย่างไรก็ตามในการประชุมหารือดังกล่าว ที่ประชุมยังได้หารือการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงดีอี และองค์กรภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนแห่งประเทศไทย (อวชท.)  

เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในการสร้างความตระหนักรู้เพื่อรับมือกับปัญหาอาชาญากรรมออนไลน์ ที่สร้างผลกระทบต่อความเสียหายต่อประชาชนในประเทศในหลายมิติ โดยทาง อวชท. ในฐานะสื่อวิทยุภาคประชาชน มีศักยภาพและความสามารถด้านสื่อสาร สร้างความตระหนักหนักรู้และการป้องกันภัยออนไลน์ให้แก่ประขาชนได้อย่างทั่วถึงในทุกชุมชนทั่วประเทศ